คุณสมบัติของผู้ศรัทธา ตอนที่3

35

คุณสมบัติของผู้ศรัทธา ตอนที่3

4.ศรัทธาต่อบรรดาศาสดาและกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ของพระองค์

ผู้ที่มีความยำเกรงศรัทธาต่อบรรดาศาสดาและกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ของพระองค์ อัล-กุรอาน กล่าวว่า และพวกเขาคือผู้ศรัทธาสิ่งที่ถูกประทานลงมาแก่เจ้า และสิ่งที่ถูกประทานลงมาก่อนเจ้า และพวกเขาเชื่อมั่นในโลกหน้า แน่นอนว่าความศรัทธาต่อคำสอนของบรรดาศาสดาก่อนหน้านั้น ต้องไม่เป็นอุปสรรคต่อความคิดและการกระทำของตน เมื่อต้องการปฏิบัติตามคำสอนของศาสดาองค์สุดท้ายผู้มาประกาศความสมบูรณ์ของศาสนา เพราะมิเช่นนั้นจะเป็นสาเหตุทำให้เป็นผู้ที่ล้าหลัง

5.ศรัทธาในปรโลก

ผู้ที่มีความยำเกรงทุกคนศรัทธาต่อปรโลก ซึ่งถือว่าเป็นจุดสุดท้ายของความศรัทธา อัล-กุรอานกล่าวว่า และพวกเขาเชื่อมั่นในปรโลก หมายความว่าพวกเขาเชื่อว่ามนุษย์ไม่ได้ถูกสร้างขึ้นมาอย่างไร้สาระหรือไร้จุดหมาย พระผู้เป็นเจ้าได้สร้างมนุษย์ขึ้นมาเพื่อความสมบูรณ์ ความตายไม่ใช่ขั้นสุดท้ายของความเป็นมนุษย์ ผู้ที่มีความยำเกรงเชื่อว่าความยุติธรรมขั้นสมบูรณ์สูงสุดของพระผู้เป็นเจ้า คือ ความหวัง และเป็นการรอคอยสำหรับผู้ศรัทธาทุกคน พวกเขาเชื่อว่าการกระทำทุกอย่างของมนุษย์บนโลกนี้ต้องได้รับการตรวจสอบ ซึ่งความเชื่อเช่นนี้ได้ทำให้จิตใจของพวกเขาเกิดความสงบมั่น ไม่มีแรงบีบบังคับในการปฏิบัติหน้าที่ ไม่มีความกังวลต่อความทุกข์ยาก ทว่าเขากล้าที่จะเผชิญหน้ากับมันอย่างเข็มแข็ง มีความเชื่อมั่นว่าการกระทำทุกอย่างของมนุษย์แม้เพียงเล็กน้อย ไม่ว่าจะเป็นความดีหรือความเลวย่อมได้รับการตอบแทนและการลงโทษ และเมื่อมนุษย์ตายจากโลกนี้ไปแล้ว จะเดินทางไปสู่โลกทีมีความกว้างใหญ่กว่า ณ ที่นั้นไม่มีการกดขี่หรือการเอาเปรียบแต่อย่างใด ทุกคนจะได้รับประโยชน์จากความเมตตาและความการุณย์ของพระองค์

ศรัทธาต่อปรโลกนั้น หมายถึงการทำลายกำแพงขวางกั้นของโลกวัตถุ เพื่อเข้าไปสู่โลกที่มีความสมบูรณ์และสูงส่งมากกว่า ซึ่งโลกนี้เป็นเพียงเรือกสวนและสถานที่อบรมสั่งสอนเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับโลกหน้า การดำรงชีวิตอยู่บนโลกนี้ไม่ใช่เป้าหมายสุดท้าย ทว่าเป็นเพียงปฐมบทเพื่อไปสู่ปรโลก ความศรัทธาที่มีต่อวันแห่งการฟื้นคืนชีพ มีอิทธิพลอย่างสูงต่อการอบรมมนุษย์ สิ่งนี้ได้ให้เป้าหมายและความกล้าหาญแก่เขา บนพื้นฐานความเชื่อดังกล่าวได้ทำให้เกียรติยศของความเป็นมนุษย์บนโลกนี้มีความสูงส่ง เนื่องจากว่าเป้าหมายในการดำรงชีวิตของเขา คือ พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงเป็นองค์ปฐมบทในการเริ่มต้นชีวิตเพื่อชีวิตที่เป็นนิรันดร์ ดังนั้น ความเชื่อมั่นต่อปรโลกและวันแห่งการฟื้นคืนชีพจะทำให้มนุษย์สามารถควบคุมจิตใจให้ออกห่างจากการกระทำบาปมากยิ่งขึ้น และเมื่อมีศรัทธามั่นคงแข็งแรงมากเท่าใด การกระทำความผิดก็จะลดน้อยลงมากเท่านั้น

สิ่งที่กล่าวมาสามารถสรุปเป็นประเด็นสำคัญ ดังนี้

1.รากฐานที่สำคัญสำหรับโลกทัศน์แห่งพระผู้เป็นเจ้าคือ การมีอยู่บางอย่างไม่สามารถรับรู้ได้ด้วยการสัมผัส (เชื่อมั่นในสิ่งที่เร้นลับ)

2.หลังจากจากศรัทธาแล้ว การกระทำที่สำคัญที่สุดคือ การดำรงนะมาซและจ่ายซะกาต (บริจาค)

3.การบริจาคนั้นควรอยู่ในระดับพอดีไม่มากหรือน้อยจนเกินไป กล่าวว่า คำว่า มิน ในโองการหมายถึง บางส่วน หมายถึงจงบริจาคบางส่วนในสิ่งที่เราได้ประทานลงมา

4.การบริจาคไม่ได้เฉพาะเจาะจงแค่ทรัพย์สินเท่านั้น ทว่าทุกสิ่งที่พระองค์ได้ประทานให้ไม่ว่าจะเป็นความรู้ เกียรติยศ หรือทรัพย์สินเงินทอง ท่านอิมามซอดิก (อ.) กล่าวว่า สิ่งที่เราได้สอนให้จงบริจาคแก่สังคม

5.สิ่งที่บริจาคต้องเป็นสิ่งอนุมัติ (ฮะลาล) เนื่องจากอัลลอฮฺ (ซบ.) ทรงประทานสิ่งที่อนุมัติแก่มนุษย์ กล่าวว่า บางส่วนในสิ่งที่เราประทานมา

6.จำเป็นต้องศรัทธาต่อบรรดาศาสดาและคัมภีร์ทั้งหมดที่ถูกประทานลงมา เนื่องจากทั้งหมดถูกประทานลงมาให้ปฏิบัติหน้าที่เดียวกัน กล่าวว่า จงศรัทธาต่อสิ่งที่เราได้ประทานมาก่อนหน้าเจ้า

7.ความยำเกรงที่แท้จริงจะปราศจากความเชื่อในปรโลกไม่ได้เด็ดขาดกล่าวว่า และพวกเขาเชื่อมั่นในปรโลก

8.ท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อล ฯ) เป็นศาสดาองค์สุดท้าย เนื่องจากอัล-กุรอานกล่าวว่า มินก็อบลิกุม (ก่อนหน้าเจ้า) โดยไม่กล่าวต่อว่า มินบะอฺดิกุม (หลังจากเจ้า) หมายถึง หลังจากเจ้าแล้วไม่มีศาสดาอีกต่อไป