หน้าที่ของบุตรภายหลังจากการเสียชีวิตของบิดามารดา
ภายหลังจากที่บิดามารดาได้เสียชีวิตไปแล้ว ผู้เป็นบุตรก็ยังคงมีหน้าที่ทางศีลธรรม เขาจำเป็นจะต้องนมาซขอพรให้แก่ท่านทั้งสอง และวิงวอนขอต่อพระผู้เป็นเจ้าให้ทรงเมตตาและอภัยโทษให้แก่พวกท่าน ดังที่อัลกุรอานได้กล่าวว่า
رَبَّنَا اغْفِرْ لِی وَلِوَالِدَیَّ وَلِلْمُؤْمِنِینَ یَوْمَ یَقُومُ الْحِسَابُ
“โอ้พระเจ้าของเรา ขอพระองค์ทรงอภัยโทษให้แก่ข้าพระองค์ และแก่บิดามารดาของข้าพระองค์ และแก่บรรดามุอมิน ในวันที่การสอบสวนจะมีขึ้น”
(อัลกุรอานบทอิบรอฮีม โองการที่ 41)
มีรายงานจากท่านอิมามบาเกร (อ.) ซึ่งท่านกล่าวว่า
انّ العبد لیكون بارّاً بوالدیه فی حیاتهما ثم یموتان فلا یقضی عنهما دینهما و لا یستغفر لهما فیكتبه الله عاقاً و انه لیكون عاقاً لهما فی حیاتهما غیر بارّ بهما فاذا ماتا قضی دینهما و استغفر لهما فیكتبه الله بارّاً
“แท้จริงบ่าว (ของอัลลอฮ์) หากแม้เขาทำดีต่อผู้ให้กำเนิดทั้งสองของตนในช่วงที่ทั้งสองยังมีชีวิตอยู่ แต่ภายหลังจากที่ทั้งสองเสียชีวิตลง เขาไม่ได้ชดใช้หนี้ให้แก่บุคคลทั้งสอง และไม่วอนขอการอภัยโทษ (จากอัลลอฮ์) ให้แก่บุคคลทั้งสอง อัลลอฮ์จะทรงบันทึกว่าเขาคือผู้อกตัญญู และแท้จริงหากแม้เขาเป็นผู้อกตัญญูต่อบุคคลทั้งสองในขณะที่ทั้งสองยังมีชีวิตอยู่ โดยไม่เคยทำดีใดๆ ให้แก่บุคคลทั้งสองเลย แต่เมื่อบุคคลทั้งสองได้เสียชีวิตลง เขาชดใช้หนี้ให้บุคคลทั้งสองและวิงวอนขออภัยโทษให้บุคคลทั้งสอง ดังนั้นอัลลอฮ์จะทรงบันทึกว่าเขาเป็นผู้กตัญญู” (14)
จากริวายะฮ์บทนี้ สามารถสรุปได้ว่า
ประการแรก หน้าที่ในการแสดงออกซึ่งความกตัญญูและการทำดีต่อบิดามารดา มิได้สิ้นสุดลงด้วยกับการสิ้นชีวิตของท่านทั้งสอง
ประการที่สอง ก็คือ พระผู้เป็นเจ้ายังทรงเปิดโอกาสเสมอสำหรับผู้เป็นบุตรที่จะชดเชยความบกพร่องในหน้าที่ต่างๆ ของผู้เป็นบุตร และความผิดพลาดต่างๆ ที่เขาเคยปฏิบัติไว้ต่อผู้ให้กำเนิดของตน
และประการที่สาม คำว่า “หนี้” หรือ “หนี้สิน” ในที่นี้คือหมายรวมทั้งสิ่งที่เป็นสิทธิของมนุษย์ (ฮักกุลนาซ) เช่น หนี้สินอันเป็นทรัพย์สินเงินทอง ฯลฯ และที่เป็นสิทธิหน้าที่ที่ท่านทั้งสองมีต่อพระผู้เป็นเจ้า เช่น นมาซ การถือศีลอด ฯลฯ ซึ่งผู้เป็นบุตรพึงปฏิบัติชดเชย (กอฎออ์) ให้แก่ท่านทั้งสอง