“บิลกีส บินติชะรอฮีล” คือชื่อของสตรีคนหนึ่งที่ในคัมภีร์อัลกุรอานได้กล่าวขานถึงนางในนาม “ราชินีแห่งซะบะอ์” (เยเมน) ผู้คนในดินแดนแห่งนี้เป็นผู้เคารพบูชาดวงอาทิตย์นางเป็นสตรีที่มีอำนาจและเป็นผู้ร่ำรวยมั่งคั่ง
คัมภีร์อัลกุรอาน ได้เล่าถึงเรื่องราวของสตรีทางการเมืองผู้นี้ไว้อย่างละเอียด เคียงคู่กับเรื่องราวของเหล่าบุรุษผู้เรืองอำนาจ อย่างเช่น นัมรูด (นิมโรด) ฟิรเอาน์ (ฟาโรห์) และกอรูน (โคราห์) และจากเรื่องราวดังกล่าวนี้มีประเด็นที่เป็นแง่คิดที่น่าสนใจอยู่มากมาย
ท่านศาสดาสุไลมาน (อ.) หรือซาโลมอน หลังจากที่ได้ทราบข่าวจาก “ฮุดฮุด” (นกหัวขวาน) ถึงการมีอยู่ของดินแดนแห่งนี้ ท่านก็ได้ปฏิบัติเช่นเดียวกับศาสดาท่านอื่น ๆ ของพระผู้เป็นเจ้า ที่ได้ประกาศเชิญชวนบรรดาผู้ปกครองของเมืองทั้งหลายมาสู่การยอมรับต่อศาสนาของพระผู้เป็นเจ้าและเตือนพวกเขาจากการละเมิดฝ่าฝืนต่อพระองค์
ราชินีแห่งซะบะอ์แตกต่างจากนิมรูดและฟาโรห์ โดยที่นับตั้งแต่เริ่มต้น นางจะเผชิญกับเรื่องราวและปัญหาต่างๆ ด้วยท่าทีของการค้นหาสัจธรรมความจริง และเมื่อจดหมายของท่านศาสดาสุไลมาน (อ.) ได้ถูกส่งไปยังนาง นางได้พิจารณาใคร่ครวญอย่างถี่ถ้วน และได้บรรยายถึงจดหมายของศาสดาสุมาน (อ.) ว่าเป็นจดหมายที่มีเกียรติ เนื่องจากนางได้พบว่าเนื้อหาของจดหมายนั้นเป็นสิ่งที่มีเกียรติ
ราชินีแห่งซะบะอ์แตกต่างจากบรรดาผู้ปกครองเผด็จการในหน้าประวัติศาสตร์ โดยที่นางจะให้ความสำคัญต่อความคิดเห็นของหมู่ชน และนางได้ปรึกษาหารือกับบรรดาผู้อาวุโสและเหล่าอำมาตย์ของตนเกี่ยวกับจดหมายของศาสดาสุไลมาน (อ.) และถึงแม้ว่าบรรดาอำมาตย์จะให้ความมั่นใจต่อนางเกี่ยวกับศักยภาพทางการทหาร แต่มหาสตรีผู้นี้ได้ล่วงรู้เป็นอย่างดีถึงความเสียหายอันใหญ่หลวงอันจะเป็นผลมาจากสงครามที่จะเกิดขึ้น และนางได้กล่าวว่า :
قَالَتْ إِنَّ الْمُلُوكَ إِذَا دَخَلُوا قَرْيَةً أَفْسَدُوهَا وَجَعَلُوا أَعِزَّةَ أَهْلِهَا أَذِلَّةً وَكَذَلِكَ يَفْعَلُونَ
“นางได้กล่าวว่า “แท้จริงเหล่ากษัตริย์นั้น เมื่อเข้าไปในเมืองใดก็ตาม พวกเขาก็จะทำลายมัน และจะทำให้บรรดาผู้มีอำนาจของเมืองนั้นเป็นผู้ต่ำต้อย และเช่นนั้นแหละพวกเขากระทำ” (อัลกุรอานบทอันนัมล์ โองการที่ 34)
ดังนั้นนางจึงได้ตัดสินใจที่จะทำการประนีประนอม และได้ทำการทดสอบท่านศาสดาสุไลมาน (อ.) ด้วยการส่งของกำนันไปให้ และรอดูปฏิกิริยาของท่านศาสดาสุไลมาน (อ.) ที่มีต่อของกำนัลดังกล่าว [8]
ท่านศาสดาสุไลมาน (อ.) ได้แสดงปฏิกิริยาต่อของกำนัลดังกล่าวตามแบบฉบับของผู้เป็นศาสดา [9] และได้ปฏิเสธการยอมรับของกำนัลของราชินีแห่งซะบะอ์ด้วยการให้เหตุผลบางประการ และมาคราวนี้ ท่านได้เรียกร้องเชิญชวนนางมาสู่การยอมรับในเกานุภาพของพระผู้เป็นเจ้าด้วยท่าทีที่แข็งกร้าวมากกว่าเดิม และได้ออกคำสั่งให้นำบัลลังก์ของราชินีบิลกีสมาให้ท่านโดยไว และให้ทำการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงมันเล็กน้อย เพื่อที่ว่าโดยวิธีการดังกล่าวจะได้ทดสอบระดับภูมิปัญญาของสตรีผู้นี้
ราชินีแห่งซะบะอ์ซึ่งเป็นสตรีที่ฉลาดปราดเปรื่อง นางได้ตัดสินใจไปพบท่านศาสดาสุไลมาน (อ.) เพื่อทำการสนทนาและพูดคุยเกี่ยวกับเรื่องของความเชื่อกับท่านโดยตรง หลังจากที่ได้มาอยู่ต่อหน้าของท่านศาสดาสุไลมาน (อ.) นางได้พบการเปลี่ยนแปลงบางอย่างในบัลลังก์ของตน
สตรีผู้สูงศักดิ์ท่านนี้ เมื่อได้ยินคำพูดต่างๆ ของศาสดาสุไลมาน (อ.) และได้เห็นความยิ่งใหญ่ของปราสาทของศาสดาแห่งพระผู้เป็นเจ้าท่านนี้ ทำให้นางเกิดความศรัทธาต่อพระผู้เป็นเจ้า และในที่สุดนางก็ได้รับเกียรติในการแต่งงานกับท่านศาสดาสุไลมาน (อ.)
เรื่องราวของราชินีแห่งซะบะอ์ (ชีบา) ได้ถูกหยิบยก ในฐานะที่เป็นแนวทางสำหรับการยอมรับสัจธรรมของประชาชน และโดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับบรรดาผู้ปกครองทั้งหลาย ที่มีต่อการเรียกร้องเชิญชวนของปวงศาสดาแห่งพระผู้เป็นเจ้าและเป็นสัญลักษณ์ของความมีภูมิปัญญาทางการเมืองของเหล่าสตรีในการเผชิญหน้าและการปฏิบัติต่อบรรดาฝ่ายตรงข้ามของตน
ที่มา
iqna.ir