อิสลามและความเป็นอิสระทางความคิด

7

อิสลาม คือ ผู้ชูธงแห่งการใช้ความคิด ใช้เหตุผล และความคิดอย่างอิสระการบังคับให้เชื่อในสิ่งหนึ่งสิ่งใด ไม่มีอยู่ในคำสอนของอิสลาม

“ไม่มีการบังคับกันในเรื่องราวของศาสนา ทางนำอันชัดแจ้งถูกแยกออกจากความหลงผิดโดยสิ้นเชิงแล้ว…”(บทอัล-บะกอเราะฮ : ๒๕๖)

ในอิสลาม การตรวจสอบหลักความเชื่อสำหรับทุกคน ถือเป็นหน้าที่และเป็นความจำเป็นที่ว่า ทุกๆคนจะต้องไม่ยอมรับสิ่งใดสิ่งหนึ่งโดยปราศจากเหตุผลและหลักฐาน ส่วนในกรณีที่ว่ากฎศาสนาบัญญัติและคำสั่งของอิสลามจำเป็นต้องปฏิบัติโดยปราศจากคำถามที่ว่า “ทำไม” และ “เพราะอะไร” นั้นก็เพราะว่า มันมีที่มาจากวะฮฺยู (ปราศจากซึ่งความผิดพลาดใดๆ ทั้งสิ้น) และถูกอธิบายโดยท่านศาสดา (ศ) และอิมามผู้บริสุทธิ์ (อฺ) แล้ว อิสลามได้ประณามบุคคลที่ยอมรับความเชื่อของบรรพบุรุษอย่างไม่ลืมหูลืมตา อีกทั้งยังกับชับอีกว่า

“จงคิดและไตร่ตรองให้ดี อย่าตามความคิดที่อ่อนแอ จงเป็นผู้ที่ปฏิบัติตามความรู้และความเชื่อมั่นเท่านั้น”

อิสลามยอมรับที่จะให้ฝ่ายตรงข้ามได้อธิบายข้อโต้แย้งของตนเองในที่ประชุมทางวิชาการ และนำเสนอเหตุผลของตนเอง ดังที่อัล กุรอานกล่าวว่า

“จงกล่าวออกไปว่า พวกเจ้าจงนำหลักฐานของพวกเจ้ามา หากว่าพวกเจ้าเป็นผู้สัตย์จริง”(บทอัล บะกอเราะฮฺ : ๑๑๑)

ด้วยสาเหตุนี้เอง ที่หลายต่อหลายครั้ง พวกยะฮูดี นัศรอนีและกลุ่มอื่นๆ ที่ยืนประจันหน้ากับอิสลาม มาหาท่านศาสดา (ศ) และบรรดาอิมาม(อฺ)ถกเถียงกันในเรื่องของศาสนา ในสมัยต่อๆ มาก็เช่นกัน แบบฉบับอันนี้ได้แพร่หลายเรื่อยมาผู้รู้ในศาสนาอื่นพยายามที่จะมาพูดคุยถกเถียงกับอุละมาอ์อิสลาม

ดร. กุลสตาฟ เลอบอง เขียนไว้ในหนังสือ “อารยธรรมอิสลาม” ว่า “ในกรุงแบกแดด ที่ประชุมมากมายถูกจัดขึ้น ตัวแทนของศาสนายะฮูดี นัศรอนี และลัทธิที่ไม่เชื่อในการมีอยู่ของพระเจ้า ได้เข้าร่วมในการประชุมนี้ พวกเขาถกเถียงพูดคุยกันอย่างอิสระ รับฟังการอธิบายของกันและกัน ในที่ประชุมแห่งนั้นมีคำขอร้องเพียงอย่างเดียว ทุกคนต้องโต้เถียงด้วยเหตุและผล” เขาได้เขียนเพิ่มเติมว่า “ถ้าพิจารณากันให้ดี ผ่านมาแล้วกว่า ๑,๐๐๐ ปี ยุโรปยังไม่ได้รับความสำเร็จถึงขั้นที่จะมีอิสรเสรีปานนั้น”