ความประเสริฐของวันฆอดีรคุม

100

ท่านอิมามซอดิก (อ.) ได้รายงานจากท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) ซึ่งกล่าวว่า

يَوْمُ غَدِيرِ خُمٍّ أَفْضَلُ أَعْيَادِ أُمَّتِي وَ هُوَ الْيَوْمُ الَّذِي أَمَرَنِيَ اللَّهُ تَعَالَى ذِكْرُهُ فِيهِ بِنَصْبِ أَخِي عَلِيِّ بْنِ أَبِي طَالِبٍ عَلَماً لِأُمَّتِي يَهْتَدُونَ بِهِ مِنْ بَعْدِي وَ هُوَ الْيَوْمُ الَّذِي أَكْمَلَ اللَّهُ فِيهِ الدِّينَ وَ أَتَمَّ عَلَى أُمَّتِي فِيهِ النِّعْمَةَ وَ رَضِيَ لَهُمُ الْإِسْلَامَ دِيْنًا

“วันฆอดีรคุม เป็นวันอีดที่ประเสริฐที่สุดของประชาชาติของฉัน มันคือวันซึ่งอัลลอฮ์ ผู้ทรงสูงส่งทรงบัญชาแก่ฉันในวันนี้ ให้แต่งตั้งอะลี บินอบีฏอลิบ น้องชายของฉัน ให้เป็นผู้นำประชาชาติของฉัน พวกเขาจะได้รับการชี้นำจากเขาภายหลังจากฉัน มันคือวันที่พระองค์ทรงทำให้ศาสนาสมบูรณ์และให้ความโปรดปราน (เนียะอ์มัต) ครบถ้วนแก่ประชาชาติของฉัน และทรงพึงพอพระทัยที่ได้มอบอิสลามให้เป็นศาสนาของพวกเขา” (1)

ฮะซัน บินรอชิด ได้เล่าว่า ฉันได้ถามท่านอิมามซอดิก (อ.) ว่า “สำหรับบรรดามุสลิมยังมีวันอีดอื่นที่นอกเหนือจากวันศุกร์ วันอีดิลอัฎฮาและวันอีดิลฟิฏริ์หรือไม่” ท่านกล่าวว่า “ใช่แล้วมีซิ! มันเป็นวันแห่งเกียรติยศที่ยิ่งใหญ่ที่สุดท่ามกลางวันอีดเหล่านั้น” ฉันกล่าวว่า “ข้าพเจ้าขอพลีเพื่อท่าน มันคือวันอีดใดหรือ” ท่านกล่าวว่า “มันคือวันที่ท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) ได้แต่งตั้งท่านอมีรุ้ลมุอ์มินีน (อ.) และได้กล่าวว่า ผู้ใดที่ฉันเป็นผู้ปกครองของเขา ดังนั้น อะลีก็เป็นผู้ปกครองของเขาด้วย” ฉันได้กล่าวว่า “มันคือวันใดกระนั้นหรือ” ท่านกล่าวว่า “…มันคือวันที่สิบแปดของเดือนซุลฮิจญะฮ์” ฉันกล่าวว่า “เราควรจะปฏิบัติตนอย่างไรในวันนั้น” ท่านกล่าวว่า

تَذْكُرُونَ اللَّهَ عَزَّ ذِكْرُهُ فِيهِ بِالصِّيَامِ وَ الْعِبَادَةِ وَ الذِّكْرِ لِمُحَمَّدٍ وَ آلِ مُحَمَّدٍ فَإِنَّ رَسُولَ اللَّهِ ص أَوْصَى أَمِيرَ الْمُؤْمِنِينَ ع أَنْ يَتَّخِذَ ذَلِكَ الْيَوْمَ عِيداً وَ كَذَلِكَ كَانَتِ الْأَنْبِيَاءُ ع تَفْعَلُ كَانُوا يُوصُونَ أَوْصِيَاءَهُمْ بِذَلِكَ فَيَتَّخِذُونَهُ عِيدا

“ท่านทั้งหลายควรรำลึกถึงอัลลอฮ์ ผู้ทรงเกริกเกียรติในวันนั้น ด้วยการถือศีลอด การทำอิบาดะฮ์และการกล่าวรำลึกถึงมุฮัมมัดและวงศ์วานของมุฮัมมัด เพราะแท้จริงท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) ได้สั่งเสียท่านอมีรุ้ลมุอ์มินีน (อ.) ให้ยึดเอาวันนั้นเป็นวันอีด และปวงศาสดาทั้งหลายก็ทำเช่นเดียวกันนี้ (เมื่อพวกท่านแต่งตั้งผู้สืบทอดของตนแล้ว) พวกท่านก็จะสั่งเสียบรรดาผู้สืบทอดของตนด้วยสิ่งนั้น แล้วพวกเขาก็จะยึดเอามันเป็นวันอีด” (2)

หากเราตรวจสอบวิถีปฏิบัติของบรรดาอิมาม (อ.) และท่านศาสดา (ซ็อลฯ) เราจะพบว่า ท่านศาสดา ท่านอมีรุลมุอ์มินีน และบรรดาอิมาม (อ.) ท่านอื่นๆ จะปฏิบัติต่อวันฆอดีร (วันที่สิบแปดของเดือนซุลฮิจญะฮ์) ในฐานะวันอีดหนึ่ง และจะเรียกร้องเชิญชวนให้มุสลิมกล่าวแสดงความยินดีต่อกัน

ในวัน “อีดฆอดีร” ท่านอิมามฮะซัน (อ.) ได้จัดงานเลี้ยงรับรองแขกอย่างใหญ่โต ท่านอิมามอะลี (อ.) พร้อมด้วยลูกหลานและบรรดาสาวกของท่านกลุ่มหนึ่ง ภายหลังเสร็จสิ้นจากการนมาซ ได้พากันไปยังบ้านของท่านอิมามฮะซัน (อ.) เพื่อเข้าร่วมในมัจญ์ลิส (การชุมนุม) เฉลิมฉลอง และภายหลังจากการสิ้นสุดการรับรองแขกท่านอิมามฮะซัน (อ.) จะมอบของขวัญให้แก่ประชาชน จากการกระทำดังกล่าวของท่านอิมามฮะซัน (อ.) ทำให้ประชาชนเคยชินและให้ความสำคัญต่อวัน “อีดฆอดีร” เพียงพอแล้วที่เราจะรับรู้ถึงความยิ่งใหญ่ของวันแห่งฆอดีรคุม และการยอมรับในวิลายะฮ์ (อำนาจการปกครอง) ของท่านอิมามอะลี (อ.) ในฐานะผู้สืบสานภารกิจของท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) จากคำพูดของท่านอิมามริฏอ (อ.) ที่ท่านกล่าวว่า

مَثَلُ الْمُؤمنينَ في قَبُولِهمْ وِلاءَ اَميرِالمُؤمنينَ(ع) في يَومِ غَديرِ خُمٍّ كَمَثلِ الْمَلائِكَةِ في سُجودِهِم لِآدَمَ(ع) وَ مَثلُ مَنْ اَبي وِلايَةَ اَميرَالمُؤمنينَ(ع) يَومَ الغَديرِ مَثَلُ اِبْليس

“ข้อเปรียบเปรยของบรรดาผู้ศรัทธา ในการยอมรับอำนาจการปกครองของท่านอมีรุ้ลมุอ์มินีนอะลี (อ.) ในวันฆอดีรคุมนั้น เปรียบได้ดั่งมะลาอิกะฮ์ (ทวยเทพทั้งหลาย) ในการซุญูด (ก้มกราบ) ต่ออาดัม (อ.) และข้อเปรียบเปรยของผู้ที่ปฏิเสธอำนาจการปกครองของท่านอมีรุ้ลมุอ์มินีน (อ.) ในวันฆอดีรนั้น เปรียบได้ดั่งอิบลีส” (3)

ดังนั้นในวันนี้ บรรดาผู้ศรัทธาจะแสดงความยินดีต่อกันด้วยการกล่าวว่า

الحمد لله الذى جعلنا من المتمسکین بولایة امیرالمؤمنین و الائمة علیهم السلام

คำอ่าน : อัลฮัมดุ ลิลลาฮิลละซี ญะอะละนา มินัลมุตะมัซซิกีนะ บิวิลายะติ อะมีริลมุอ์มินีนะ วัลอะอิมมะตะ อะลัยฮิมุสสะลาม

คำแปล : มวลการสรรเสริญเป็นสิทธิแด่อัลลอฮ์ ผู้ทรงทำให้เราเป็นส่วนหนึ่งจากผู้ที่ยึดมั่นในวิลายะฮ์ (อำนาจการปกครอง) ของท่านอะมีรุลมุอ์มินีน (อ.) และบรรดาอิมาม (อ.)

เชิงอรรถ :

(1) บิฮารุ้ลอันวาร, เล่มที่ 37, หน้าที่ 109

(2) อัลกาฟีย์, เล่มที่ 4, หน้าที่ 149 ; บิฮารุลอันวาร, เล่มที่ 37, หน้าที่ 172 ; วะซาอิลุชชีอะฮ์, เล่มที่ 10, หน้าที่ 440

(3) อัลอะมาลี, เชคซุดูก, เล่มที่ 2, หน้าที่ 171