อิสลามคือศาสนาแห่งความรักและการปฏิบัติตาม

371

ความรักหมายถึงอะไร ? ความรักนั้นคือความผูกพันอย่างหนึ่งระหว่างผู้รักและผู้ที่ถูกรัก ซึ่งแหล่งกำเนิดของมันนั้นอยู่ในหัวใจและด้านในของคนเรา แต่มันจะปรากฏให้เห็นอย่างชัดเจนทางภายนอก ในพฤติกรรมและการกระทำต่างๆ ของผู้ที่รัก เป็นความรักที่แท้จริงและมั่นคงยั่งยืนที่เป็นผลมาจากการรู้จัก (มะอ์ริฟะฮ์) ในตัวผู้ที่ตนเองรัก ดังที่ท่านอิมามซอดิก (อ.) ได้กล่าวว่า

وَالحُبُّ فَرعُ المَعرِفَةِ

“และความรักนั้น คือผลที่เกิดจากการรู้จัก (มะอ์ริฟะฮ์)” (2)
การรู้จัก (มะอ์ริฟะฮ์) และความรักนั้นจะต้องถูกสำแดงออกมาให้เห็นด้วยการเชื่อฟังและการปฏิบัติตามผู้ที่ตนเองรัก ดังที่ท่านอิมามบากิร (อ.) ได้กล่าวว่า

ما عَرَفَ اَللهَ مَن عَصاهُ

“บุคคลที่ละเมิดฝ่าฝืนอัลลอฮ์นั้น เขาไม่ได้รักพระองค์”
พร้อมกันนั้นท่านได้กล่าวเป็นบทกวีว่า

تعصي الإله وأنت تظهر حبه *** هذا لعمرك في الفعال بديع لو كان حبك صادقاً لأطعتــه *** إن المحب لمن أحب مطيع

“ท่านละเมิดฝ่าฝืนพระเจ้าในขณะที่ท่านแสดงตนว่ารักพระองค์ ขอสาบานด้วยอายุขัยของท่านว่า สิ่งนี้ช่างเป็นพฤติกรรมที่แปลกใหม่ หากคามรักของท่านเป็นเรื่องสัจจริงแล้ว แน่นอนยิ่ง ท่านจะต้องเชื่อฟังพระองค์ เพราะแท้จริงผู้ที่รักนั้นย่อมจะต้องปฏิบัติตามผู้ที่เขารัก” (3)

ความรักในอะฮ์ลุลบัยตฺ (อ)

ในอัลกุรอาน ถือว่าหนึ่งในหน้าที่จำเป็น (วาญิบ) สำหรับมุสลิมทุกคน นั่นคือการแสดงความรักต่ออะฮ์ลุลบัยตฺ (อ.) ของท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ซึ่งเป็นคำบัญชาของอัลลอฮ์ (ซ.บ.) ที่ใช้ให้ท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ประกาศสิ่งนี้ให้แก่ประชาชาติของท่าน ในคัมภีร์อัลกุรอานหลายต่อหลายครั้งที่พระผู้เป็นเจ้าทรงชี้ให้เห็นว่า บรรดาศาสดาทั้งปวงนั้นจะไม่ขอรางวัลตอบแทนใดๆ ในการประกาศศาสนาของตนจากประชาชน โองการที่ 109 ถึง 180 เพื่อบรรยายถึงการปฏิบัติภารกิจของศาสดาท่านต่างๆ จะกล่าวซ้ำเช่นนี้ว่า

وَمَا أَسْأَلُكُمْ عَلَيْهِ مِنْ أَجْرٍ إِنْ أَجْرِيَ إِلَّا عَلَىٰ رَبِّ الْعَالَمِينَ

“และฉันมิได้ขอค่าตอบแทนในการนี้จากพวกท่าน ค่าตอบแทนของฉันมิได้มาจากผู้ใดนอกจากพระผู้อภิบาลแห่งสากลโลก”

แต่ท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) เพียงท่านเดียวที่ได้พูดถึงรางวัลตอบแทนของตนจากประชาชาติของท่าน ในการประกาศศาสนาไว้ใน 3 โองการด้วยกัน ในโองการหนึ่ง อัลลอฮ์ทรงบัญชาต่อท่านโดยตรัสว่า

قُل لَّا أَسْأَلُكُمْ عَلَيْهِ أَجْرًا إِلَّا الْمَوَدَّةَ فِي الْقُرْبَىٰ

“(โอ้มุฮัมมัด) จงกล่าวเถิดว่า ฉันไม่ได้ขอรางวัลตอบแทนใดๆ จากพวกท่านในการประกาศศาสนานี้ นอกจากความรักต่อเครือญาติใกล้ชิดของฉัน” (4)

ในอีกโองการหนึ่งในอัลกุรอานบทซะบะอ์ โดยที่พระองค์ทรงตรัสว่า

قُلْ مَا سَأَلْتُكُم مِّنْ أَجْرٍ فَهُوَ لَكُمْ إِنْ أَجْرِىَ إِلَّا عَلَى اللَّهِ

“โอ้มุฮัมมัด จงกล่าวเถิดว่า รางวัลตอบแทนอันใดก็ตามที่ฉันได้ขอจากพวกท่าน ดังนั้นมันก็เพื่อตัวพวกท่านเอง ค่าตอบแทนของฉันมิได้มาจากผู้ใดนอกจาก ณ อัลลอฮ์เพียงเท่านั้น” (5)
และในอีกโองการหนึ่งในอัลกุรอานบทอัลฟุรกอน โดยที่พระองค์ทรงตรัสว่า

قُلْ مَا أَسْأَلُكُمْ عَلَيْهِ مِنْ أَجْرٍ إِلَّا مَن شَاء أَن يَتَّخِذَ إِلَى رَبِّهِ سَبِيلًا

“(โอ้มุฮัมมัด) จงกล่าวเถิดว่า ฉันไม่ได้ขอค่าตอบแทนใดๆ จากพวกท่าน ในการประกาศศาสนานี้ เว้นแต่ (เพื่อ) ผู้ที่ประสงค์จะยึดเป็นแนวทางไปสู่พระผู้อภิบาลของเขา” (6)

ดังนั้นจากการรวมโองการทั้งสามนี้เข้าด้วยกัน สามารถสรุปได้ว่า ท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) เองก็มิได้หวังรางวัลตอบแทนใดๆ จากมนุษย์หรือจากประชาชาติของท่านในการประกาศศาสนาอิสลาม รางวัลของท่านนั้นอยู่ ณ อัลลอฮ์ แต่ท่านต้องการจะกล่าวว่า การที่ฉันขอสิ่งตอบแทนจากพวกท่านและกล่าวกับพวกท่านทั้งหลายว่า “จงรักอะฮ์ลุลบัยติ์” ของฉันนั้น ก็เนื่องจากว่าคุณประโยชน์ของสิ่งตอบแทนดังกล่าวนี้จะย้อนกลับไปสู่ตัวพวกท่านเองเพียงเท่านั้น เพราะใครก็ตามที่รักและมีความผูกพันต่ออะฮ์ลุลบัยติ์ของฉัน ก็เท่ากับเขาได้ปฏิบัติตามพวกเขา และใครก็ตามที่ปฏิบัติตามอะฮ์ลุลบัยติ์ผู้นำที่บริสุทธิ์เหล่านี้ ก็เท่ากับเขาได้ปฏิบัติตามและมั่นคงอยู่ในทางอันเที่ยงตรงของพระผู้เป็นเจ้า

ดังนั้นคุณประโยชน์ของสิ่งตอบแทนที่ท่านศาสนทูต (ซ็อลฯ) เรียกร้องจากเรานั้น คือสิ่งที่จะย้อนกลับไปสู่ตัวเราเอง เหมือนกับครูที่จะกล่าวกับลูกศิษย์ของตนเองว่า ฉันไม่ต้องการค่าตอบแทนใดๆ จากพวกเธอ นอกจากขอให้เธอตั้งใจเรียนให้ดีเพียงเท่านั้น การตั้งใจเรียนนี้คุณประโยชน์ของมันก็ย้อนกลับไปสู่ตัวนักเรียนเอง
ศาสนา คือเรื่องของความรักและการปฏิบัติตาม : บุร็อยด์ บินมุอาวิยะฮ์ อัลอิจญ์ลี ได้เล่าว่า ในขณะที่ฉันอยู่กับท่านอิมามบากิร (อ.) ชายชาวคุราซานผู้หนึ่งได้เดินทางด้วยเท้าเพื่อมาพบท่านอิมาม (อ.) เขาได้เอาเท้าที่บวมและถลอกออกจากรองเท้าของเขา พร้อมกับกล่าวว่า “ขอสาบานต่ออัลลอฮ์ว่า ไม่มีเหตุผลอื่นใดที่ได้นำพาข้าพเจ้ามาจากดินแดนอันไกลโพ้น (มาถึงที่แห่งนี้) นอกจากความรักที่มีต่อพวกท่าน ผู้เป็นอะฮ์ลุลบัยติ์ (ของท่านศาสดา)”
ท่านอิมามบากิร (อ.) ได้กล่าวว่า

والله لو احبنا حجر حشره الله معنا و هل الدین الا الحب؟

“ขอสาบานต่ออัลลอฮ์ มาตรแม้นว่าหินก้อนหนึ่งรักเรา อัลลอฮ์ก็จะทรงรวมมันขึ้นมาพร้อมกับเรา (ในวันชาติหน้า) และศาสนานั้นเป็นอื่นไปนอกจากความรักกระนั้นหรือ! แท้จริงอัลลอฮ์ได้ทรงตรัสว่า

قُلْ إِن كُنتُمْ تُحِبُّونَ اللّهَ فَاتَّبِعُونِي يُحْبِبْكُمُ اللّهُ وَيَغْفِرْ لَكُمْ ذُنُوبَكُمْ

“(โอ้มุฮัมมัด) จงกล่าวเถิดว่า หากพวกท่านรักอัลลอฮ์ ดังนั้นจงปฏิบัติตามฉันเถิด แล้วอัลลอฮ์จะทรงรักพวกท่านและจะทรงอภัยโทษความผิดบาปทั้งหลายของพวกท่านให้แก่พวกท่าน” (7)
และพระองค์ได้ทรงตรัสว่า :

يُحِبُّونَ مَنْ هَاجَرَ إِلَيْهِمْ

“พวกเขารักผู้ที่อพยพมายังพวกเขา” (8)
จากนั้นท่านได้กล่าวต่ออีกว่า

وهل الدِّين إلّا الحبّ

“และศาสนานั้นเป็นอื่นไปนอกจากความรักกระนั้นหรือ!” (9)
ความรักในหนทางของพระผู้เป็นเจ้า

: ท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) ได้กล่าวไว้เช่นกันว่า

هَلِ الدّينُ إلَّا الحُبُّ وَالبُغضُ ؟! قالَ اللهُ عَزَّوجَلَّ : إِن كُنتُمْ تُحِبُّونَ اللَّهَ فَاتَّبِعُونِى يُحْبِبْكُمُ اللَّهُ

“ศาสนานั้นเป็นอื่นไปนอกจากความรักและความเกลียดชังกระนั้นหรือ! อัลลอฮ์ทรงเกริกเกียรติเกรียงไกรได้ทรงตรัสว่า หากพวกท่านรักอัลลอฮ์ ดังนั้นจงปฏิบัติตามฉันเถิด แล้วอัลลอฮ์จะทรงรักพวกท่าน” (10)

ศาสนาอิสลามนั้นเน้นย้ำในเรื่องของความรักในหนทางของพระผู้เป็นเจ้าอย่างมาก ในขณะเดียวกันก็เน้นย้ำในเรื่องของความเกลียดชังและการเป็นปฏิปักษ์ต่อสิ่งที่จะนำพาเราออกห่างจากพระผู้เป็นเจ้า เป็นไปไม่ได้ที่มุอ์มิน (ผู้ศรัทธา) คนหนึ่ง จะรักอัลลอฮ์ (ซ.บ.) แต่ในขณะเดียวกันก็รักศัตรูของอัลลอฮ์ด้วย ท่านศาสนทูตของอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) ได้กล่าวว่า

الحُبُّ فِي اللهِ فَريضَةٌ ، وَ البُغضُ فِي اللهِ فَريضَةٌ

“ความรักในหนทางของอัลลอฮ์นั้นเป็นข้อกำหนดบังคับ (ฟะรีเฎาะฮ์) และความเกลียดชังในหนทางของอัลลอฮ์ก็เป็นข้อกำหนดบังคับ (ฟะรีเฎาะฮ์)” (11)

ท่านอิมามอะลี (อ.) ได้กล่าวว่า

واصِلوا مَن تُواصِلونَهُ فِي اللهِ ، وَ اهجُروا مَن تَهجُرونَهُ فِي اللهِ سُبحانَهُ

“พวกท่านจะผูกสัมพันธ์กับใครก็ตาม จงผูกสัมพันธ์กับเขาในทางของอัลลอฮ์ และจะตัดขาดจากใครก็ตาม จงตัดขาดเขาในทางของอัลลอฮ์ (ซบ.)” (12)

กล่าวคือ เราจะต้องเลือกครบมิตรและเชื่อมสัมพันธ์ตนเองกับผู้ที่จะช่วยให้เรามั่นคงอยู่กับพระผู้เป็นเจ้าเพียงเท่านั้น และจะต้องตัดสัมพันธ์กับผู้ที่จะทำให้เราเบี่ยงเบนออกจากทางนำของพระผู้เป็นเจ้า ท่านอิมามซอดิก (อ.) กล่าวว่า

حُبُّ أولِياءِ اللهِ وَ الوِلايَةُ لَهُم واجِبَةٌ ، وَ البَراءَ ةُ مِن أعدائِهِم واجِبَةٌ

“ความรักต่อบรรดาผู้ปกครองของอัลลอฮ์ และการปฏิบัติตามอำนาจการปกครองของพวกเขานั้นเป็นสิ่งจำเป็น (วาญิบ) และการเอาตัวออกห่างจากศัตรูของพวกเขาก็เป็นสิ่งจำเป็น (วาญิบ)” (14)

ท่านอิมามริฎอ (อ.) กล่าวว่า

حُبُّ أولِياءِ اللهِ تَعالى واجِبٌ ،و كَذلِكَ بُغضُ أعداءِ اللهِ وَ البَراءَ ةُ مِنهُم و مِن أئِمَّتِهِم

“ความรักต่อบรรดาผู้ปกครองของอัลลอฮ์ (ตะอาลา) นั้นเป็นวาญิบ และเช่นเดียวกันนี้ ความเกลียดชังต่อศัตรูของอัลลอฮ์ และการนำตัวออกห่างจากพวกเขาและจากผู้นำของพวกเขา” (15)

ตัวอย่างของผู้ที่มีความรักความผูกพันต่ออะฮ์ลุลบัยตฺ (อ.) ของท่านศาสดา (ซ็อลฯ)
ในวันอัรบะอีน ขณะที่ท่านญาบิรบินอัลดุลลอฮ์ อันซอรี ทำการซิยาเราะฮ์ (เยี่ยมเยียน) หลุมศพของท่านอิมามฮุเซน (อ.) นั้น ท่านกล่าวว่า

السَّلَامُ عَلَيْكُمْ أَيُّهَا الْأَرْوَاحُ الَّتِي حَلَّتْ بِفِنَاءِ الْحُسَيْنِ وَ أَنَاخَتْ بِرَحْلِهِ ، أَشْهَدُ أَنَّكُمْ أَقَمْتُمُ الصَّلَاةَ ، وَآتَيْتُمُ الزَّكَاةَ ، وَ أَمَرْتُمْ بِالْمَعْرُوفِ ، وَ نَهَيْتُمْ عَنِ الْمُنْكَرِ ، وَ جَاهَدْتُمُ الْمُلْحِدِينَ ، وَ عَبَدْتُمُ اللَّهَ حَتَّى أَتَاكُمُ الْيَقِينُ ، وَ الَّذِي بَعَثَ مُحَمَّداً بِالْحَقِّ لَقَدْ شَارَكْنَاكُمْ فِيمَا دَخَلْتُمْ فِيهِ .

“ขอความสันติจงมีแด่ท่านโอ้ดวงวิญญาณอันบริสุทธิ์ที่รายล้อมอยู่รอบสถานที่ฝังศพของท่านฮุเซน (อ.) และได้พบกับความสงบมั่นแล้ว ข้าฯ ขอเป็นพยานว่าพวกท่านได้ดำรงไว้ซึ่งการนมาซ พวกท่านได้จ่ายซะกาต พวกท่านได้กำชับความดีและห้ามปรามความชั่วแล้ว และพวกท่านได้ต่อสู้กับบรรดาผู้ปฏิเสธ และพวกท่านได้เคารพภักดีอัลลอฮ์จนกระทั่งยะกีน (ความตาย) ได้มาถึงยังพวกท่าน ข้าฯ ขอสาบานต่อพระผู้เป็นเจ้าที่ทรงแต่งตั้งมุฮัมมัด (ซ็อลฯ) ด้วยกับสัจธรรมว่า แน่นอนยิ่ง เราได้มีส่วนร่วมกับพวกท่านแล้วในสิ่งที่เกิดขึ้นกับพวกท่าน”

อะฏียะฮ์ อัลเอาฟีย์ ได้กล่าวกับท่านญาบิรว่า

“เราจะมีส่วนร่วมกับพวกเขาได้อย่างไร ในขณะที่เรามิได้เดินทางผ่านท้องทุ่งทะเลทราย และมิได้ข้ามผ่านหุบเขาต่างๆ และมิได้จับดาบต่อสู้ในทางของอัลลอฮ์ ในขณะที่กลุ่มคนเหล่านี้ศีรษะและเรือนร่างของพวกเขาถูกแยกออกจากกันและเป็นชะฮีด ลูกๆ ของพวกเขาก็กลายเป็นกำพร้า และภรรยาของพวกเขาก็ต้องเป็นหม้าย”
ท่านญาบิรได้กล่าวว่า

يَا عَطِيَّةُ ، سَمِعْتُ حَبِيبِي رَسُولَ اللَّهِ ( صلى الله عليه و آله ) يَقُولُ: “مَنْ أَحَبَّ قَوْماً حُشِرَ مَعَهُمْ ، وَ مَنْ أَحَبَّ عَمَلَ قَوْمٍ أُشْرِكَ فِي عَمَلِهِمْ

“โอ้อะฏียะฮ์เอ่ย! ฉันได้ยินท่านศาสนทูตของอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) ได้กล่าวว่า ผู้ใดก็ตามที่รักกลุ่มชนหนึ่ง เขาก็จะถูกรวมขึ้นพร้อมกับพวกเขาเหล่านั้น และผู้ใดก็ตามที่รักการกระทำของกลุ่มชนหนึ่ง เขาก็จะมีส่วนร่วมในการกระทำของพวกเขาเหล่านั้น”

จากนั้นท่านได้กล่าวว่า

وَالَّذِي بَعَثَ مُحَمَّداً بِالْحَقِّ نَبِيّاً إِنَّ نِيَّتِي وَ نِيَّةَ أَصْحَابِي عَلَى مَا مَضَى عَلَيْهِ الْحُسَيْنُ وَ أَصْحَابُه

“ขอสาบานต่อพระผู้เป็นเจ้าที่ทรงแต่งตั้งมุฮัมมัด (ซ็อลฯ) ด้วยกับสัจธรรมว่า แท้จริงเจตนา (เหนียต) ของฉันและเจตนาของบรรดาสหายของฉัน อยู่บนสิ่งที่ฮุเซนและบรรดาสหายของท่านได้กระทำไป” (16)

 

แหล่งอ้างอิง :

(2) มิศบาหุชชะรีอะฮ์, บาบที่หนึ่ง, หน้าที่ 4
(3) ตุหะฟุลอุกูล, หน้าที่ 284
(4) อัลกุรอานบทอัชชูรอ โองการที่ 23
(5) อัลกุรอานบทซะบะอ์ โองการที่ 47
(6) อัลกุรอานบทอัลฟุรกอน โองการที่ 57
(7) อัลกุรอานบทอาลิอิมรอน โองการที่ 31
(8) อัลกุรอานบทอัลฮัชร์ โองการที่ 9
(9) มุสตัดร็อก อัลวะซาอิล, เล่มที่ 12, หน้าที่ 219
(10) อัลมุสตักร็อก อะลัซซอฮีฮัยน์, เล่มที่ 2, หน้าที่ 319, ฮะดีษที่ 3148
(11) กันซุ้ลอุมมาล, เล่มที่ 9, หน้าที่ 11, ฮะดีษที่ 24688
(12) ฆุร่อรุ้ลหิกัม, ฮะดีษที่ 10120
(13) อัลคิซ้อล, หน้าที่ 607, ฮะดีษที่ 9
(14) อัลคิซ้อล, หน้าที่ 607, ฮะดีษที่ 9
(15) อุยูนุ อัคบาริรริฎอ (อ.) เล่มที่ 2, หน้าที่ 124, ฮะดีษที่ 1
(16) บิฮารุ้ลอันวาร, เล่มที่ 65, หน้าที่ 130