พิธีอาชูรอกับปรัชญาการสำแดงอัตลักษณ์แห่งการพลี ศึกษาเชิงวิเคราะห์ วิจักษ์และวิธาน (ตอนที่ ๑)

316

อัล-กุรอาน: “จงเล่าเรื่องราวเหล่านั้นเถิด เพื่อหวังว่าพวกเขาจะใช้ปัญญาไตร่ตรอง”(บทอัลอะอ์รอฟ โองการที่ 176)

โดยทั่วไปผู้ที่บูชาวีรบุรุษหรือหลงใหลต่อนักต่อสู้นั้น เกิดมาจากจิตใต้สำนึกของความเป็นมนุษย์ โดยเฉพาะเมื่อไหร่ก็แล้วแต่ที่คนหนึ่งต้องการจะถ่ายทอดความเป็นวีรบุรุษนั้น เขาจะชื่นชมและนิยมต่อบุคคลที่เป็นวีรบุรุษนั้นด้วยการแสดงออกถึงความภาคภูมิใจในตัวของเขาผู้นั้น โดยเฉพาะนักสู้ผู้กล้า ที่เป็นวีรบุรุษได้ยอมเสียชีพเพื่อปกป้องในเกียรติยศและศักดิ์ศรี ประชาชนจะนำเขาเหล่านั้นเป็นบุคคลต้นแบบและเป็นสื่อในการต่อสู้ของพวกเขา ไม่ว่าผู้ที่เป็นวีรบุรุษของเขานั้นจะอยู่ในฐานะใดและจะเป็นแรงบันดาลใจต่อการสู้และการยืนหยัดเพื่อคุณธรรมอยู่ตลอดเวลา

อิมามฮุเซน ประกาศการคัดค้านการให้สัตยาบันต่อยะซีดและได้ต่อสู้ต่อต้านผู้ปกครองในสมัยนั้นโดยยึดหลักการต่อสู้ตามคำสอนของอิสลาม ดังที่ท่านอิมามฮุเซน (อ.) ได้กล่าวไว้ในคำสั่งเสียต่อน้องชาย (ต่างมารดา) ของท่านคือ มุฮัมหมัด บินฮะนีฟะฮ์ ว่า

“แท้จริง ฉันมิได้ออก(เดินทาง)ไปในฐานะผู้ก่อความเสียหายและผู้อธรรม หากแต่ฉันออกไปเพียงเพื่อเรียกร้องให้มีการแก้ไขปรับปรุงในประชาชาติแห่งท่านตาของฉัน ฉันต้องการจะสั่งสอนในเรื่องคุณธรรม และยับยั้งห้ามปรามจากสิ่งชั่วร้าย และฉันจะเดินตามแนวทางของท่านตาของฉันและของบิดาของฉัน อะลี อิบนิ อบีฏอลิบ (อ.)”

อิมามฮุเซน(อ)ในวันอาชูรอ

ในวันที่ 10 มุฮัรรอมท่ามกลางความร้อนระอุในทะเลทรายแห่งแผ่นดินกัรบาลา อิมามฮุเซน (อ.) ได้ตักเตือนประชาชน และเรียกร้องให้พวกเขาเกรงกลัวต่อบทลงโทษอันเกิดจากการกระทำของพวกเขา ดังนี้ว่า

“ประชาชนทั้งหลาย พวกท่านจงสืบสาวดูซิว่าฉันคือใคร แล้วจงย้อนกลับไปตำหนิตัวพวกท่านเอง จงตรึกตรองดูซิว่าการฆ่าฉันและการทำลายล้างเกียรติยศของฉัน เป็นที่ยินยอมแก่พวกท่านกระนั้นหรือ? ฉันมิใช่บุตรของลูกสาวศาสดาของพวกท่านดอกหรือ? มิใช่บุตรของทายาทของท่านศาสดาและบุตรของลุงของท่านศาสดา ซึ่งเป็นผู้ศรัทธาต่ออัลลอฮ์และเชื่อถือต่อศาสนทูตของพระองค์เป็นคนแรกดอกหรือ? หรือว่าฮัมซะฮ์ประมุขของบรรดาผู้พลีชีวิตมิได้เป็นท่านอาของบิดาของฉัน? หรือว่าญะอ์ฟัร อัฏ ฏ็อยยาร มิได้เป็นลุงของฉัน? คำสอนของท่านศาสดาในเรื่องของฉันและพี่ชายของฉันยังไม่เป็นที่ล่วงรู้สำหรับพวกท่านอีกหรือ ที่ว่าเราสองคนนี้คือประมุขของของชายหนุ่มชาวสวรรค์?”

พวกเขากล่าวแก่อิมามฮุเซน (อ.) ว่า

“จงให้สัตยาบันแก่ยะซีดเหมือนกับที่พวกเขาให้สัตยาบันไปแล้วเถิด”

อิมามฮุเซน (อ.) ตอบอย่างแข็งกร้าวว่า “ไม่เด็ดขาด ขอสาบานต่ออัลลฮ์ฉันจะไม่ยื่นมือของฉันให้แก่พวกเขาด้วนการยื่นให้อย่างต่ำต้อย และฉันจะไม่วิ่งหนีเหมือนอย่างการวิ่งหนีของบ่าวไพร่”

อุมัร อิบนิ สะอัดแม่ทัพของทหารฝ่ายยะซีดได้ออกคำสั่งให้โจมตีค่ายของฮุเซน (อ.) และเกิดการปะทะกันขึ้น ทำให้มีผู้พลีชีพและล้มตายไปจำนวนมากและยังเหลืออยู่กับอิมามฮุเซน(อ)เพียงจำนวนน้อย ทั้งสหายธรรมและสมาชิกในครอบครัว ในที่สุดพวกเขาได้ก้าวออกไปสู่ความตายคนแล้วคนเล่า ด้วยความกล้าหาญและทรหดโดยไม่รู้สึกหวาดกลัวเลย

เมื่อสหายและสมาชิกครอบครัวของฮุเซนพลีชีพไปหมดแล้ว ยังคงเหลือแต่อิมามฮุเซนเพียงผู้เดียว ท่านได้กล่าวอำลาครอบครัว และกำชับให้พวกเขาอดทนและหนักแน่นในหนทางของอัลลอฮ์ หลังจากนั้นท่านได้ขี่ม้ามุ่งหน้าออกไปต่อสู้กับทหารจำนวนหลายหมื่นคน โดยลำพังเพียงผู้เดียว จนกระทั่งในที่สุดท่านได้รับชะฮีดในสภาพที่นอนอยู่บนกองเลือดบนพื้นทรายอย่างโดดเดี่ยว โดยศรีษะถูกตัดออก เพื่อนำไปมอบให้ยะซีด “อิบนุ สะอัด” ไม่หยุดยั้งเพียงการสังหารอิมามฮุเซนเท่านั้น หากแต่เขายังได้สั่งให้ทหารบางคน เหยียบย่ำร่างกายของท่านอิมามฮุเซน(อ) โดยพวกเขาควบม้าจำนวนสิบตัวเข้าบดขยี้ร่างของอิมามฮุเซนจนแหลกเหลวไม่มีชิ้นดี

หลังจากนั้น “อิบนุ สะอัด” ได้สั่งให้จุดไฟเผาค่ายที่พักของอิมามฮุเซนหลังจากได้บุกเข้าไปจับตัวเด็กๆและสตรีเป็นเชลย แล้วนำไปยังเมืองกูฟะฮ์ ในจำนวนคนเหล่านั้นมีท่านหญิงซัยนับบุตรของอิมามอะลี (อ.)(น้องสาวอิมามฮุเซน) และอิมามซัยนุลอาบิดีน บุตรชายของอิมามฮุเซน (อ.)

ท่านหญิงซัยนับได้เดินไปค้นหาร่างอันไร้วิญญาณของอิมามฮุเซนผู้เป็นพี่ชายอย่างกล้าหาญ ท่านได้วางมือลงใต้ร่างอันบริสุทธิ์แล้วแหงนหน้าขึ้นสู้ท้องฟ้า แล้วกล่าวด้วยความนบนอบว่า “โอ้ พระเจ้า โปรดรับการอุทิศพลีเพื่อแสวงหาความใกล้ชิดอันนี้จากเราด้วยเถิด”

โปรดติดตามอ่านตอนต่อไป…..

ขอบคุณ นิตยสาร “สาส์นจากฟากฟ้า”