วันสุดท้ายของเดือนซอฟัรของทุกปี เป็นวันคล้ายวันชะฮาดัตของท่านอิมามริฎอ(อ) ทายาทและเชื้อสายของท่านศาสดามุฮัมมัด(ศ) ในบทความชิ้นนี้ขอนำเสนอ ชีวประวัติ คุณลักษณะและฉายานามของท่านอิมามริฎอ(อ)พอสังเขป เพื่อจักได้รู้จักสถานะภาพอันยิ่งใหญ่ของท่านอิมามริฎอ(อ) ผู้เป็นจอมราชันย์แห่งโคราซาน…..
ชีวประวัติของอิมามอะลี ริฎอ(อ) โดยสังเขป
สภาพของสังคมและผู้ปกครองที่ผลัดเปลี่ยนกันขึ้นมาเสวยอำนาจนั้น เป็นที่ชัดเจนอยู่แล้วว่าผู้ปกครองเหล่านั้นล้วนทำตัวเป็นปรปักษ์กับบรรดาอหลุลบัยตทั้งสิ้น และไม่ว่าพวกเขาจะสรรหาวิธีการมากลั่นแกล้งอิมามและทรมารพวกที่เจริญรอยตามท่านอย่างไรก็ตาม จำนวนชีอะฮก็เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ และพวกเขากลับมีอีมานที่มั่นคงแข็งแรง สถาบันการปกครองสำหรับพวกเขาเป็นสิ่งสกปรกโสโครกและน่าขยะแขยงที่สุด
พวกเขามีอีมานและความเชื่ออยู่ลึก ๆ ว่า บรรดาผู้ปกครองหรือใครก็ตามที่กลั่นแกล้งบรรดาอิมามผู้บริสุทธิ์เหล่านี้ ในความเป็นจริงแล้วเขาไม่ได้ทำอะไรเลยนอกจากแกล้งตัวเองและทำให้ตัวเองต้องตกระกำลำบาก
มะอมูน เคาะลิฟะฮที่ 7 แห่งบนีอับบาสซึ่งได้ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งโดยการฆ่าอามีนพี่ชายตนเอง เขาได้เตรียมแผนการณ์ที่จะจัดการกับอิมาม (อ.) และชีอะฮของท่านเอาไว้ โดยมีแผนการณ์ที่แยบยลกว่าการบีบบังคับและการทรมาน
การเดินเกมทางการเมืองของเขาได้เริ่มต้นด้วยการมอบหมายให้ท่านอิมามริฎอ (อ.) เป็นผู้ปกครองรองจากตน เพื่อให้อิมามเป็นตัวป้องกันไม่ให้พวกชีอะฮมาก่อกวน และสร้างความระส่ำระสายให้เกิดกับการปกครองของตน ขณะเดียวกันก็เป็นการทำลายความเชื่อถือ เกียรติยศ และความบริสุทธิ์ของอิมาม (อ.) ให้หมดไปจากความทรงจำของประชาชน และเป็นการทำลายความยิ่งใหญ่ของตำแหน่งอิมามะฮ ซึ่งถือว่าเป็นรากฐานที่สำคัญยิ่งของอิสลามและแนวทางชีอะฮให้สิ้นสุดลง และในที่สุดแนวทางชีอะฮก็จะล่มสลายไปเอง
ประโยชน์ที่ได้รับจากการเดินเกมทางการเมืองโดยวิธีนี้อีกประการหนึ่งคือ เป็นการยุติขบวนการของพวกฟาฏิมียะที่ก่อร่างสร้างตัวขึ้นเพื่อโค่นล้มราชวงศ์อับบาซีย แม้ว่าต่อมาภายหลังตำแหน่งการปกครองจะตกไปอยู่กับพวกฟาฏิมียะก็ตาม แต่อย่างน้อยสุดก็หลีกเลี่ยงการนองเลือดไปได้ แผนการณ์ของมะฮมูนดำเนินไปย่างไร้อุปสรรคขวางกั้น
ในตอนแรก มะอมูนมีแผนการณ์ให้อิมาม (อ.) ยอมรับตำแหน่งของตน หลังจากนั้นจะตั้งให้อิมามเป็นรองตน ท่านอิมาม ท่านอิมาม (อ.) เข้าใจเป้าหมายและเจตนารมณ์ที่แท้จริงของมะอมูนเป็นอย่างดี ท่านจึงตอบปฏิเสธแต่มะอมูนได้อ้อนวอนขอร้องต่างๆ นานา จนเห็นว่าทำอย่างไรอิมามก็ไม่ยอมแน่นอนจึงใช้วิธีการบังคับขู่เข็ญ ท่านอิมาม (อ.) ได้พิจารณาแล้วว่า ถ้าไม่ยอมรับตำแหน่งจะไม่มีผลดีใด ๆ เกิดขึ้นกับตัวเองและบรรดาชีอะฮของท่าน ดังนั้นท่านจึงได้ยอมรับตำแหน่งดังกล่าว
ท่านอิมาม (อ.) ได้ใช้ตำแหน่งดังกล่าวทำการชี้นำและสร้างแนวความคิดให้กับประชาชนเท่าที่ท่านสามารถทำได้ ซึ่งความรู้ของอิสลามและแก่นแท้ของศาสนาได้ถูกอธิบายออกไปอย่างต่อเนื่อง (มะอมูนเองก็ทราบซึ้งในรสพระธรรมเหล่านั้น) การอธิบายในรากหลักแห่งความรู้ของท่านอิมามริฎอ (อ.) นั้น มีความยิ่งใหญ่ละม้ายคล้ายคลึงกับคำอธิบายของท่านอิมามอะลี (อ.)
ความศิริมงคลอีกประการหนึ่งที่ได้รับจากท่านอิมามริฎอ (อ.) คือ ท่านได้เป็นผู้ตรวจสอบฮะดิษต่าง ๆ ที่มาจากบิดาของท่าน ซึ่งอยู่ในมือของพวกชีอะฮขณะนั้น ท่านได้เป็นผู้แบ่งแยกฮะดีษจริงกับฮะดิษเท็จและฮะดีษที่อ่อน ซึ่งถูกสร้างขึ้นโดยน้ำมือที่โสโครกของผู้ปกครองออกจากกัน และกำหนดว่าฮะดีษใดบ้างที่ต้องละทิ้ง
ท่านอิมามริฎอ (อ.) หลังจากได้รับตำแหน่งรองจากมะอมูน ท่านถูกสั่งให้ออกจากมะดีนะฮเพื่อเดินทางไปสู่โครอซาน และในระหว่างทางซึ่งต้องเดินทางผ่านอิหร่าน ได้มีผู้ศรัทธาจำนวนมากมายที่เจริญรอยตามท่านออกมาทำการต้อนรับอิมามของตน และไม่ว่าพวกเขาจะอยู่ ณ ที่ใดก็ตามเมื่อทราบข่าวว่าท่านอิมามจะเดินทางผ่านมา ได้แห่แหนกันมาอย่างล้นหลามเพื่อซิยารัตทั้งกลางวันและกลางคืน พวกเขาได้รายล้อมท่านอิมามประดุจดังแมลงเม่าที่บินอยู่เหนือกองไฟ เพื่อไถ่ถามปัญหาและตักตวงความรู้จากท่านอิมาม
มะอมูนเมื่อรู้ข่าวก็ตกใจอย่างมาก ซึ่งเขาไม่เคยคาดคิดมาก่อนเลยว่า จะมีคลื่นมหาชนแห่แหนกันมาต้อนรับอิมามของพวกเขาอย่างอบอุ่น เขาเริ่มรู้ว่าอันตรายกำลังคืบคลานเข้ามาสู่อำนาจของเขา และเพื่อเป็นการป้องกันจึงสั่งให้จับกุมท่านอิมามไปคุมขังเอาไว้ และลอบวางยาพิษจนอิมามได้เป็นชะฮีดในเวลาต่อมา และหลังจากนั้นการเมืองแบบเดิมของเขาก็ได้ดำเนินต่อไปด้วยการกลั่นแกล้งอหลุลบัยตและเข่นฆ่าชีอะฮของท่าน
คุณลักษณะของอิมามอะลี ริฎอ(อ.)
อิมามอะลี ริฎอ(ฮ.) มีคุณลักษณะที่ประเสริฐอย่างสูงเช่นเดียวกับศาสดามุฮัมมัด(ศ.) ผู้เป็นปู่ทวดของท่าน
อิบรอฮีม อิบนฺ อับบาส ได้รายงานว่า “ฉันไม่เคยเห็นและไม่เคยได้ยินว่ามีใครที่ประเสริฐยิ่งไปกว่าอะบุล ฮะซัน อัร-ริฎอ(อ.) ท่านไม่เคยหันหลังให้ใคร ไม่เคยขัดจังหวะใคร ไม่เคยปฏิเสธที่จะช่วยเหลือใครในสิ่งที่ท่านช่วยได้ ไม่เคยยืดขาต่อหน้าผู้ร่วมสนทนา ไม่เคยเอนหลังพิงสิ่งใดในขณะที่ผู้นั่งร่วมกับท่านไม่ได้พิง ไม่เคยเรียกคนรับใช้หรือผู้ช่วยของท่านด้วยชื่อที่ไม่ดี ท่านไม่เคยถ่มน้ำลายหรือว่าระเบิดเสียงหัวเราะดังๆ ท่านจะเพียงแค่ยิ้มมากกว่า เมื่อท่านจะรับประทานอาหารท่านจะเรียกผู้ช่วยทั้งหมดของท่านมารับประทานกับท่านด้วย รวมทั้งพ่อบ้านและคนเลี้ยงม้า ในตอนกลางคืนท่านจะนอนเพียงเล็กน้อย แต่จะใช้เวลาส่วนใหญ่ในเวลากลางคืนไปกับการนมาซและอ่านอัล-กุรอาน ท่านยังได้ทำการบริจาคอย่างมากมาย ซึ่งส่วนมากแล้วท่านบริจาคในยามกลางคืนที่มืดมิด”
จากรายงานบทนี้ สามารถระบุถึงคุณลักษณะอันประเสริฐของอิมามอะลี ริฎอ(อ.) ได้ดังนี้
– ท่านไม่เคยหันหลังให้ใคร ไม่ว่าเขาจะเป็นมิตรหรือศัตรู ท่านจะต้อนรับพวกเขาด้วยรอยยิ้มอย่างอบอุ่น
– ท่านไม่ขัดจังหวะใครในขณะที่เขากำลังพูดอยู่ แต่ท่านจะปล่อยให้เขาพูดจนจบ
– คุณธรรมที่น่ายกย่องอีกประการหนึ่งของท่านคือท่านจะไม่ยืดขาของท่านออกไปต่อหน้าผู้ที่นั่งร่วมอยู่กับท่าน แต่ท่านจะนั่งอย่างสุภาพเรียบร้อย
– ท่านไม่พิงหลังกับสิ่งใดในขณะที่ผู้นั่งร่วมกับท่านไม่ได้พิง
– ท่านไม่เรียกคนรับใช้หรือผู้ช่วยของท่านด้วยชื่อที่ไม่ดี ถึงแม้พวกเขาจะทำผิดก็ตาม
– ท่านไม่เคยถือตัวกับคนรับใช้หรือผู้ช่วยของท่านเลย ท่านเรียกพวกเขาให้มานั่งร่วมรับประทานอาหารกับท่าน
– ท่านนมาซอย่างมากมายโดยใช้เวลาในยามกลางคืนทำการนมาซและอ่านคัมภีร์ของอัลลอฮฺ
– ท่านทำคุณความดีกับคนยากจนอย่างมากมาย ท่านบริจาคทานให้พวกเขาในยามกลางคืนที่มืดมิดเพื่อไม่ให้ใครจำท่านได้
นี่คือคุณลักษณะอันประเสริญยิ่งของอิมาม ซึ่งอิบรอฮีม อิบนฺ อับบาส ได้ประจักษ์ด้วยตัวเอง
ที่มาของฉายานาม “อัร-ริฎอ”
นักประวัติศาสตร์กลุ่มหนึ่งมีความคิดว่า กาหลิบมะอฺมูน เป็นผู้ตั้งฉายานามนี้ให้แก่ท่าน เพราะเขามีความพึงพอใจในตัวท่านและได้แต่งตั้งให้ท่านเป็นผู้สืบทอดของเขา
อิมามมุฮัมมัด ญะวาด(อ.) ได้ปฏิเสธคำกล่าวนี้ต่อหน้ากลุ่มสาวกของท่าน โดยได้กล่าวว่า “แท้จริงแล้ว อัลลอฮฺผู้ทรงจำเริญและสูงส่งยิ่ง ได้ตั้งฉายานามว่า อัร-ริฎอ ให้แก่ท่าน เพราะท่านเป็นที่พึงพอพระทัยของอัลลอฮฺ(ซ.บ.) ของศาสนทูตของพระองค์(ศ.) และของบรรดาอิมาม(อ.)”
มีบางคนถามท่านว่า “แล้วบรรพบุรุษของท่านที่ผ่านไปนั้น ไม่ได้เป็นที่พึงพอพระทัยของอัลลอฮฺ(ซ.บ.) ของศาสนทูต(ศ.) และของบรรดาอิมาม(อ.) ดอกหรือ?”
อิมามญะวาด(อ.) ตอบว่า “เป็น”
ชายคนนั้นก็ถามอีกว่า “แล้วทำไมบิดาของท่านคนเดียวจึงมีฉายานามว่า อัร-ริฎอ”
ท่านตอบว่า “เพราะทั้งศัตรูฝ่ายตรงข้ามและผู้สนับสนุนที่เชื่อฟังท่าน ต่างก็มีความพึงพอใจในตัวท่าน ในขณะที่สิ่งนี้ไม่ได้เกิดขึ้นกับบรรพบุรุษของท่านคนใดเลย ดังนั้นท่านคนเดียวที่ได้รับฉายานามว่า อัร-ริฎอ”