พระปฐมบรมราชโองการเนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๙๓ “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรมเพื่อประโยชน์สุขของมหาชนชาวสยาม” ที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้พระราชทานให้ไว้กับปวงชนชาวไทย ทุกเชื้อชาติ ทุกศาสนาไม่ว่าจะยากดีมีจนที่อยู่ภายใต้พระบรมโพธิสมภารนับตั้งแต่พระองค์ได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ ของปวงชนชาวไทยมาตลอดรัชสมัยของพระองค์ นับเวลายาวนานกว่า ๗๐ ปี ย่อมเป็นที่ประจักษ์แก่ชาวโลกทั้งมวลโดยเฉพาะอย่างยิ่งปวงชนชาวไทย “ข้ารองบาท” ทั้งผอง ย่อมรู้ซึ้งและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ ที่พระองค์ได้ทรงปฏิบัติให้เห็นเป็นที่ประจักษ์ต่อสายตาทุกคู่ ต่อดวงใจทุกดวงของปวงราษฎร์ของพระองค์อย่างมิทรงรู้เหน็ดรู้เหนื่อย พระราชกรณียกิจทุกอย่างของพระองค์ท่านล้วนทรงปฏิบัติและตั้งพระทัยทำเพื่อประชาชนของพระองค์ทั้งสิ้น พระองค์เสด็จฯ ไปยังที่ต่างๆทั่วประเทศเพื่อให้ความช่วยเหลือให้กำลังใจแก่ราษฎรของพระองค์โดยไม่หวั่นเกรงภยันตรายใดๆ เพื่อให้ราษฎรของพระองค์มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี ทั้งยังทรงทำทุกอย่างเพื่อให้ประเทศชาติมีความเจริญก้าวหน้าเป็นที่ยอมรับของอารยประเทศด้วย
พระองค์ทรงเป็นกษัตริย์ที่เปี่ยมไปด้วยทศพิศราชธรรม ทรงเป็นพุทธมามกะที่ยิ่งใหญ่ เป็นแบบอย่างของผู้ทรงคุณธรรม จริยธรรมและความเมตตาอย่างเหลือประมาณ ทรงอุปถัมภ์ค้ำชูพระพุทธศาสนาให้มั่นคงสถาพร และทรงมีพระมหากรุณาธิคุณเป็นองค์อุปถัมภกแก่ทุกศาสนาที่มีผู้คนศรัทธานับถืออยู่ในประเทศไทยมาตลอด ทำให้ประชาชนของพระองค์อยู่ร่วมกันได้อย่างเปี่ยมสุขตลอดมา
โต๊ะอิหม่าม (ผู้นำศาสนา) เสนาะ อากาหยี่ ทูลเกล้าฯ ถวายหนังสือประวัติและเรื่องราวของท่านอิหม่ามฮุเซ็น
ด้วยสายพระเนตรที่มองการณ์ไกล ทรงให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อพสกนิกรของพระองค์ที่นับถือศาสนาต่างๆ ดังจะเห็นได้จากการที่พระองค์ทรงถือว่าการเสด็จฯ เยี่ยมเยือน เข้าร่วมในพิธีการตลอดจนการให้ความช่วยเหลือในด้านกิจการศาสนาของศาสนาต่างๆ ที่พสกนิกรของพระองค์ศรัทธานับถือโดยเท่าเทียมกัน ฯลฯ เป็นพระราชกรณียกิจสำคัญยิ่งที่จะละเลยมิทรงปฏิบัติไม่ได้ พระองค์จึงทรงเป็นที่เทิดทูนและเป็นที่รักยิ่งของปวงประชาราษฎร์ทุกศาสนามาโดยตลอด
และหนึ่งในเหตุการณ์ที่เป็นประจักษ์พยานเป็นประวัติศาสตร์หน้าหนึ่งที่เป็นพระมหากรุณาธิคุณเป็นความปีติยินดีที่หาที่สุดมิได้ คือ เหตุการณ์ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ในหลวง ร.๙ เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ มาทอดพระเนตร พิธีกรรมทางศาสนาอิสลาม นิกายชีอะห์(เจ้าเซ็น) ที่กุฎีเจริญพาศน์ ตำบลวัดอรุณ อำเภอบางกอกใหญ่ จังหวัดธนบุรี เมื่อวันที่ ๑๖ กันยายน พุทธศักราช ๒๔๙๖ ตามความกราบบังคมทูลเชิญเสด็จฯ ของหัวหน้าผู้ปกครองกุฎีเจริญพาศน์ (นายเจริญอากาหยี่) และพสกนิกรของใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทที่นับถือศาสนาอิสลามนิกายชีอะห์ (เจ้าเซ็น)
พิธีที่ได้กราบบังคมทูลเชิญมานี้ได้กระทำต่อเนื่องกันมาตั้งแต่สมัยท่านเจ้าพระยาเฉกอะหมัด (ปฐมจุฬาราชมนตรีแห่งสยาม) ครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีจวบจนถึงปัจจุบัน ซึ่งได้กราบถวายบังคมทูลขอพระบรมราชานุญาตเสมอมาทุกปีและได้รับพระมหากรุณาธิคุณเป็นองค์อุปถัมภกทุกรัชการตลอดมา
สำหรับพิธีกรรมนี้เป็นพิธีกรรมที่สำคัญของผู้นับถือศาสนาอิสลามนิกายชีอะห์ที่กุฎีเจริญพาศน์ถือเป็นชุมชนชีอะห์ขนาดใหญ่ และเป็นพิธีกรรมที่ปฏิบัติตามความเชื่อความศรัทธาของมุสลิมนิกายชีอะห์เท่านั้น สำหรับมุสลิมนิกาย “ซุนนี” ซึ่งเป็นมุสลิมส่วนใหญ่ในประเทศไทยจะไม่มีพิธีกรรม ความเชื่อและการประกอบพิธีกรรมแบบชาวชีอะห์นี้
ส่วนคำว่า “กุฎี” หมายถึง ศาสนสถานของชาวมุสลิม ซึ่งมีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี หลักฐานสำคัญยิ่งคือ “กุฎีช่อฟ้า” ซึ่งตั้งอยู่ที่ ต.คลองตะเคียน อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา ที่ยังคงเป็นศาสนสถานที่เป็นศูนย์รวมในการประกอบศาสนกิจของชาวมุสลิม
ครั้นเมื่อย้ายเมืองหลวงมาอยู่ที่กรุงเทพฯ ในสมัยรัตนโกสินทร์ชาวมุสลิมที่อพยพมาตั้งถิ่นฐานใหม่ในพระนครก็ยังคงสร้างศาสนสถานเพื่อใช้ประกอบพิธีกรรมทางศาสนาขึ้นอีกหลายแห่ง ซึ่งก็รวมถึง กุฎีเจริญพาศน์ ด้วยเช่นกัน
เวลาต่อมาเมื่อมีการบัญญัติคำศัพท์ เรียกศาสนสถานของชาวมุสลิมว่ามัสยิดขึ้นมาใช้อย่างเป็นทางการ จึงเรียกว่า “มัสยิดช่อฟ้า” “มัสยิดกุฎีเจริญพาศน์” ฯลฯ เป็นต้นมา
กุฎีเจริญพาศน์ เดิมเรียกว่า กุฎีกลาง มีลักษณะเป็นเรือนมนิลาประดับไม้ฉลุ ตกแต่งด้วยศิลปะแบบขนมปังขิง หลังคาประดับกระเบื้องโมเสก สร้างโดยจุฬาราชมนตรี(อากาหยี่) ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑ ถือเป็นกุฎีแห่งที่ ๒ ของกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งมีกุฎีแรกคือ กุฎีหลวงสร้างในรัชสมัยเดียวกัน
บรรพชนของชาวชีอะห์ในบริเวณกุฎีเจริญพาศน์นี้มาจากเมืองกุมประเทศอิหร่าน (นิกายชีอะห์มีผู้นับถือมากในอิหร่าน อิรัก) ถือเป็นสถานที่ตั้งถิ่นฐานเก่าแก่และปัจจุบันก็ยังมีผู้สืบเชื้อสายอาศัยอยู่หนาแน่นกว่าที่อื่นๆ
พิธีกรรมนี้จะทำทุกปีโดยเมื่อถึงเดือน “มุฮัรรอม” (เดือนแรกของศักราชอิสลาม) จะมีพิธีกรรมที่เรียกแบบไทยๆ ว่า “พิธีเจ้าเซ็น” หรือ “แห่เจ้าเซ็น” โดยจะกระทำในสิบวันแรกของเดือนมุฮัรรอม เป็นพิธีที่มุสลิมนิกายชีอะห์แสดงความระลึกถึงท่านอิหม่ามฮุเซ็น (ซึ่งเป็นหลานของท่านศาสดามูฮัมหมัด) ผู้นำนิกายชีอะห์ในประวัติศาสตร์เมื่อกว่า ๑,๓๐๐ ปีก่อน เมื่อครั้งที่ท่านอิหม่ามถูกสังหารที่ “ทุ่งกัรบะลาอ์” ในอิรัก
ขบวนพิธีจะมีการแห่ “ตุ้มบุด” หรือ “โต๊ะราบัด” คือ เครื่องจำลองคานหามบรรจุศพของอิหม่ามฮุเซ็น มีการแสดงความเสียใจต่อการจากไปของท่านอย่างสุดซึ้งด้วยการใช้มือทุบอก เรียกว่า “มะต่ำ” พร้อมกับการขับโศลก เรียกว่า “มะระเสีย” (การรำพึงรำพันถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น)
ผู้ร่วมพิธีจะสวมเครื่องแต่งกายผ้าคลุมสีขาว เรียกว่า เป็นสัญลักษณ์แทนผ้า “กัฟฟาหนี่” เป็นสัญลักษณ์แทนผ้าห่อศพท่านอิหม่านฮุเซ็น สวมหมวกทรง “กลีบลำดวน” ซึ่งเป็นรูปแบบเฉพาะของเจ้าเซ็นเพื่อแสดงออกถึงความเป็นเอกภาพ มีการเดินลุยกองไฟ การควั่นศีรษะ เพื่อแสดงถึงความศรัทธา รวมทั้งยังมีการแห่แหนสิ่งที่ระลึกการตายของอิหม่ามฮุเซ็นด้วย
ทั้งสองพระองค์ได้ทอดพระเนตรขบวนแห่ในพิธีของมุสลิมนิกายชีอะห์(แขกเจ้าเซ็น)และการลุยไฟ อย่างสนพระทัยยิ่งเป็นเวลานานกว่า ๒ ชั่วโมง
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช สมเด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ เวลา ๒๑.๐๐ น. ทั้งสองพระองค์ประทับทั้งในกุฎีและปะรำพิธี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้หัวหน้าผู้ปกครองของชุมชนกุฎีเข้าเฝ้าถวายงานอย่างใกล้ชิด และทรงสอบถามถึงความเป็นมาของพิธีกรรมที่จัดขึ้น ตลอดจนขั้นตอนแต่ละอย่างเพื่อให้ทรงทราบความหมาย ความเข้าใจของพิธีกรรมอย่างถ่องแท้ รวมทั้งเสด็จฯ ทอดพระเนตรพิธีการด้วยความสนพระทัยเป็นอย่างยิ่ง เป็นเวลากว่า ๒ ชั่วโมง ก่อนจะเสด็จฯ กลับมาเมื่อเวลา ๒๓.๐๐ น. นำมาซึ่งความปีติและเป็นสิริสวัสดิมงคลแก่บรรดาผู้ร่วมในพิธี รวมทั้งชาวมุสลิมนิการชีอะห์แห่งกุฎีเจริญพาศน์อย่างหาที่สุดมิได้ เฉกเช่นเดียวกับพระบูรพมหากษัตริย์ซึ่งเป็นองค์อัครศาสนูปถัมภกทุกพระองค์ที่ได้ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณแก่ปวงราษฎร์ทุกศาสนาของพระองค์ในประเทศไทยตลอดมา
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ทรงจุดเทียน
อ้างอิงจาก คู่สร้างคู่สม ปีที่ 37 ฉบับที่ 965 ประจำวันที่ 10-20 พฤศจิกายน 2559